วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทฤษฏีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์



ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์




     ฟรอยด์ (Freud, 1856-1939) เป็นชาวออสเตรีย เป็นคนแรกที่เห็นความสำคัญของพัฒนาการในวัยเด็กและถือว่าเป็นรากฐานของพัฒนาการของบุคลิกภาพตอนวัยผู้ใหญ่สนับสนุนคำกล่าวของนักกวี Wordsworthที่ว่า"The child is father of the man" และมีความเชื่อว่า ปีแรกของชีวิตมีความสำคัญมากเป็นระยะวิกฤติของพัฒนาการของชีวิตบุคลิกภาพของผู้ใหญ่มักจะเป็นผลรวมของ ปีแรก ฟรอยด์เชื่อว่าบุคลิกภาพของผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันก็เนื่องจากประสบการณ์ของแต่ละคนเมื่อเวลาอยู่ในวัยเด็กขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนแก้ปัญหาของความขัดแย้งของแต่ละวัยอย่างไร ทฤษฎีของฟรอยด์มีอิทธิพลทางการรักษาคนไข้โรคจิต วิธีการนี้เรียกว่า จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) โดยให้คนไข้ระบายปัญหาให้จิตแพทย์ฟัง
ทฤษฎีของฟรอยด์อาจจะกล่าวหลักโดยย่อดังต่อไปนี้

ฟรอยด์ได้แบ่งจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือ
- จิตสำนึก (Conscious)
- จิตก่อนสำนึก (Pre-conscious)
- จิตไร้สำนึก (Unconscious)
   เนื่องจากระดับจิตสำนึกเป็นระดับที่ผู้แสดงพฤติกรรมทราบและรู้ตัวส่วนเนื้อหาของระดับจิตก่อนสำนึกเป็นสิ่งที่จะดึงขึ้นมาอยู่ในระดับจิตสำนึกได้ง่ายถ้าหากมีความจำเป็นหรือต้องการระดับจิตไร้สำนึกเป็นระดับที่อยู่ในส่วนลึกภายในจิตใจจะดึงขึ้นมาถึงระดับจิตสำนึกได้ยากแต่สิ่งที่อยู่ในระดับไร้สำนึกก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมฟรอยด์เป็นคนแรกที่ได้ให้ความคิดเกี่ยวกับแรงผลักดันไร้สำนึก (Unconscious drive) หรือแรงจูงใจไร้สำนึก (Unconscious motivation) ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมและมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์
        ฉะนั้น ฟรอยด์กล่าวว่าความพึงพอใจในส่วนต่างๆของร่างกายนี้เป็นไปตามวัยเริ่มกลไกในการป้องกันตัวเป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัวเมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจการใช้กลไกป้องกันจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหาเพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด     ความไม่สบายใจทำให้คิดหาเหตุผลหรือแก้ไขปัญหาได้
        ฟรอยด์กล่าวว่า มนุษย์เรามีสัญชาติญาณติดตัวมาแต่กำเนิดและได้แบ่งสัญชาติญาณออกเป็น 2 ชนิดคือ

1) สัญชาติญาณเพื่อการดำรงชีวิต (Life instinct)
2) สัญชาติญาณเพื่อความตาย (Death instinct)

  สัญชาตญาณบางอย่างจะถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกฟรอยด์ได้อธิบายเกี่ยวกับสัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิตไว้อย่างละเอียดได้ตั้งสมมติฐานว่ามนุษย์เรามีพลังงานอยู่ในตัวตั้งแต่เกิดเรียกพลังงานนี้ว่า "Libido" เป็นพลังงานที่ทำให้คนเราอยากมีชีวิตอยู่อยากสร้างสรรค์และอยากจะมีความรักมีแรงขับทางด้านเพศหรือกามารมณ์ (Sex) เพื่อจุดเป้าหมาย คือความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure) โดยมีส่วนต่างๆของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึกและได้เรียกส่วนนี้ว่า อีโรจีเนียสโซน (Erogenous Zones) แบ่งออกเป็นส่วนต่างดังนี้

- ส่วนปาก ช่องปาก (Oral)
- ส่วนทางทวารหนัก (Anal)
- และส่วนทางอวัยวะสืบพันธุ์ (Genital Organ)
ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ
     1. ขั้นปาก   (Oral Stage)
     2. ขั้นทวารหนัก   (Anal Stage)
     3. ขั้นอวัยวะเพศ    (Phallic Stage)
     4. ขั้นแฝง   (Latence Stage)
     5. ขั้นสนใจเพศตรงข้าม  (Genital Stage)

     1) ขั้นปาก (0-18 เดือน) ฟรอยด์เรียกขั้นนี้ว่าเป็นขั้นออรอลเพราะความพึงพอใจอยู่ที่ช่องปากเริ่มตั้งแต่เกิดเด็กอ่อนจนถึงอายุราวๆ 2 ปี หรือวัยทารกเป็นวัยที่ความพึงพอใจเกิดจากการดูดนมแม่ นมขวด และดูดนิ้ว เป็นต้น ในวัยนี้ความคับข้องใจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า"การติดตรึงอยู่กับที่" (Fixation) ได้และมีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพเรียกว่า "Oral Personality" มีลักษณะที่ชอบพูดมากและมักจะติดบุหรี่ เหล้า และชอบดูด หรือกัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีความเครียดบางครั้งจะแสดงด้วยการดูดนิ้ว หรือดินสอ ปากกาผู้มีลักษณะแบบนี้อาจจะชอบพูดจาถากถาง เหน็บแนม เสียดสีผู้อื่น


        2) ขั้นทวารหนัก (18 เดือน – 3 ปี) ฟรอยด์กล่าวว่าเด็กวัยนี้ได้รับความพึงพอใจทางทวารหนักคือจากการขับถ่ายอุจจาระและในระยะซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความคับข้องใจของเด็กวัยนี้เพราะพ่อแม่มักจะหัดให้เด็กใช้กระโถนและต้องขับถ่ายเป็นเวลาเนื่องจากเจ้าของความต้องการของผู้ฝึกและความต้องการของเด็กเกี่ยวกับการขับถ่ายไม่ตรงกันของเด็กคือความอยากที่จะถ่ายเมื่อไรก็ควรจะทำได้เด็กอยากจะขับถ่ายเวลาที่มีความต้องการกับการที่พ่อแม่หัดให้ขับถ่ายเป็นเวลาบางทีเกิดความขัดแย้งมากอาจจะทำให้เกิด Fixation และทำให้เกิดมีบุคลิกภาพนี้เรียกว่า "Anal Personality" ผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้อาจจะเป็นคนที่ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นพิเศษและค่อนข้างประหยัดมัธยัสถ์หรืออาจมีบุคลิกภาพตรงข้ามคืออาจจะเป็นคนที่ใจกว้างและไม่มีความเป็นระเบียบเห็นได้จากห้องทำงานส่วนตัวจะรกไม่เป็นระเบียบ

      3) ขั้นอวัยวะเพศ (3-5 ปี) ความพึงพอใจของเด็กวัยนี้อยู่อวัยวะสืบพันธุ์เด็กมักจะจับต้องลูกคลำอวัยวะเพศระยะนี้ฟรอยด์กล่าวว่าเด็กผู้ชายมีปมเอ็ดดิปุส (Oedipus Complex) ฟรอยด์อธิบายการเกิดของปมเอ็ดดิปุสว่าเด็กผู้ชายติดแม่และรักแม่มากและต้องการที่จะเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงคนเดียวและต้องการร่วมรักกับแม่แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าแม่และพ่อรักกันและก็รู้ดีว่าตนด้อยกว่าพ่อทุกอย่างทั้งด้านกำลังและอำนาจประกอบกับความรักพ่อและกลัวพ่อฉะนั้นเด็กก็พยายามที่จะเก็บกดความรู้สึกที่อยากเป็นเจ้าของแม่แต่คนเดียวและพยายามทำตัวให้เหมือนกับพ่อทุกอย่าง ฟรอยด์เรียกกระบวนนี้ว่า "Resolution of Oedipal Complex" เป็นกระบวนการที่เด็กชายเลียนแบบพ่อทำตัวให้เหมือน"ผู้ชาย"ส่วนเด็กหญิงมีปมอีเล็คตรา (Electra Complex) ซึ่งฟรอยด์ก็ได้ความคิดมาจากนิยายกรีกเหมือนกับปมเอ็ดดิปุส ฟรอยด์อธิบายว่า แรกทีเดียวเด็กหญิงก็รักแม่มากเหมือนเด็กชายแต่เมื่อโตขึ้นพบว่าตนเองไม่มีอวัยวะเพศเหมือนเด็กชายและมีความรู้สึกอิจฉาผู้ที่มีอวัยวะเพศชายแต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ยอมรับและโกรธแม่มากถอนความรักจากแม่มารักพ่อที่มีอวัยวะเพศที่ตนปรารถนาจะมีแต่ก็รู้ว่าแม่และพ่อรักกันเด็กหญิงจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกป้องกันตนโดยเก็บความรู้สึกความต้องการของตน(Represtion)และเปลี่ยนจากการโกรธเกลียดแม่มาเป็นรักแม่(Reaction Formation)ขณะเดียวกันก็อยากทำตัวให้เหมือนแม่จึงเลียนแบบ สรุปได้ว่าเด็กหญิงมีความรักพ่อแต่ก็รู้ว่าแย่งพ่อมาจากแม่ไม่ได้จึงเลียนแบบแม่ คือ ถือแม่เป็นแบบฉบับหรือต้นแบบของพฤติกรรมของ "ผู้หญิง"

         4) ขั้นแฝง (Latency Stage) เด็กวัยนี้อยู่ระหว่างอายุ 6-12 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กเก็บกดความต้องการทางเพศหรือความต้องการทางเพศสงบลง (Quiescence Period) เด็กชายมักเล่นหรือจับกลุ่มกับเด็กชาย ส่วนเด็กหญิงก็จะเล่นหรือจับกลุ่มกับเด็กหญิง

         5) ขั้นสนใจเพศตรงข้าม (Genital Stage) วัยนี้เป็นวัยรุ่นเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปจะมีความต้องการทางเพศวัยนี้จะมีความสนใจในเพศตรงข้ามซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่ ฟรอยด์กล่าวว่าถ้าเด็กโชคดีและผ่านวัยแต่ละวัยโดยไม่มีปัญหาก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพปกติแต่ถ้าเด็กมีปัญหาในแต่ละขั้นของพัฒนาการก็จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งฟรอยด์ได้ตั้งชื่อตามแต่ละวัย เช่น "Oral Personalities" เป็นผลของ Fixation ในวัยทารกจนถึง 2 ปี ผู้ใหญ่ที่มี Oral Personality เป็นผู้ที่มีความต้องการที่จะหาความพึงพอใจทางปากอย่างไม่จำกัด เช่น สูบบุหรี่ กัดนิ้ว ดูดนิ้ว รับประทานมาก มีความสุขในการกิน และชอบดื่ม คนที่มี Oral Personality อาจจะเป็นผู้ที่เห็นโลกในทางดี (Optimist) มากเกินไป จนถึงกับเป็นคนที่ไม่ยอมรับความจริงของชีวิตหรืออาจจะเป็นคนที่แสดงตนว่าเป็นคนเก่ง ไม่กลัวใครและใช้ปากเป็นเครื่องมือ เช่น ชอบพูดเยาะเย้ย ถากถางและกระแนะกระแหนผู้อื่น
ถ้า Fixation เกิดในระยะที่ 2 ของชีวิต คือ อายุราวๆ 2-3 ปี จะทำให้บุคคลนั้น มีบุคลิกภาพแบบ Anal Personality 
ซึ่งอาจจะมีลักษณะต่างๆ ดังนี้
(1) เป็นคนเจ้าสะอาดมากเกินไป (Obsessively Clean) และเรียบร้อยเจ้าระเบียบ เข้มงวด และเป็นคนที่ต้องทำอะไรตามกฎเกณฑ์ เปลี่ยนแนวไม่ได้
(2) อาจจะมีลักษณะตรงข้ามเลย คือ รุงรัง ไม่เป็นระเบียบ
(3) อาจจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย หรือตระหนี่ก็ได้ ผู้ชายที่แต่งงานก็คิดว่า ตนเป็นเจ้าของ "ผู้หญิง" ที่เป็นภรรยาเก็บไว้แต่ในบ้าน หึงหวงจนทำให้ภรรยาไม่มีความสุขผู้หญิงที่มี Anal personality ก็จะหึงหวงสามีมาก จนทำให้ชีวิตสมรสไม่มีความสุข

บุคลิกภาพ : Id Ego และ Superego

           Id เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดแต่เป็นส่วนที่จิตไร้สำนึกมีหลักการที่จะสนองความต้องการของตนเองเท่านั้นเอาแต่ได้อย่างเดียวและจุดเป้าหมายก็คือ หลักความพึงพอใจ (Pleasure Principle) Id จะผลักดันให้  Ego ประกอบในสิ่งต่างๆตามที่ Id ต้องการ
            Ego เป็นส่วนของบุคลิกภาพ ที่พัฒนามาจากการที่ทารกได้ติดต่อหรือมีปฎิสัมพันธ์กับโลกภายนอก บุคคลที่มีบุคลิกภาพปกติคือบุคคลที่Ego สามารถที่ปรับตัวให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการของ Id โลกภายนอก และ Superego หลักการที่ Ego ใช้คือหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle)
           Superego เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นในระยะที่ 3 ของพัฒนาการที่ชื่อว่า "Phallic Stage"เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ตั้งมาตรการของพฤติกรรมให้แต่ละบุคคลโดยรับค่านิยมและมาตรฐาจริยธรรมของบิดามารดาเป็นของตนโดยตั้งเป็นมาตรการความประพฤติมาตรการนี้จะเป็นเสียงแทนบิดามารดาคอยบอกว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำมาตรการของพฤติกรรมโดยมากได้มาจากกฎเกณฑ์ต่างๆที่พ่อแม่สอนและมักจะเป็นมาตรฐานจริยธรรมและค่านิยมต่างของพ่อแม่ ฟรอยด์กล่าวว่าเป็นผลของการปรับของ Oedipus และ Electra Complex ซึ่งนอกจากทำให้เด็กชายเลียนแบบพฤติกรรมของ"ผู้ชาย"จากบิดาและเด็กหญิงเลียนแบบพฤติกรรมของ"ผู้หญิง"จากมารดาแล้วยังยึดถือหลักจริยธรรมค่านิยมของบิดามารดาเป็นมาตรการของพฤติกรรมด้วย
Superego แบ่งเป็น 2 อย่างคือ
1. "Conscience" ซึ่งคอยบอกให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
2. "Ego ideal" ซึ่งสนับสนุนให้มีความประพฤติดี
"Conscience" มักจะเกิดจากการขู่ว่าจะทำโทษ เช่น "ถ้าทำอย่างนั้นเป็นเด็กไม่ดี ควรจะละอายแก่ใจที่ประพฤติเช่นนั้น" ส่วน "Ego ideal" มักจะเกิดจากการให้แรงเสริมบวกหรือการยอมรับ เช่น แม่รักหนู เพราะหนูเป็นเด็กดี
ฟรอยด์ถือว่าความต้องการทางเพศเป็นแรงขับและไม่จำเป็นจะอยู่ในระดับจิตสำนึกเสมอไปแต่จะอาจอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก (Unconscious) และมีพลังงานมาก ความคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับแรงขับระดับจิตไร้สำนึกเป็นประโยชน์ในการเข้าใจพฤติกรรมของคนซึ่งปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ยอมรับความคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับ Unconscious motivation แม้ว่าจะไม่รับหลักการของฟรอยด์ทั้งหมด
ฟรอยด์ กล่าวว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะขั้นวัยทารก วัยเด็ก และวัยรุ่น ระบบทั้ง 3 ของบุคลิกภาพ คือ Id, Ego และ Superego จะทำงานประสานกันดีขึ้น เนื่องจากเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือโลกภายนอกมากขึ้นยิ่งโตขึ้น Ego ก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และสามารถที่จะควบคุม Id ได้มากขึ้น

องค์ประกอบที่มีส่วนพัฒนาการทางบุคลิกภาพมีหลายอย่างซึ่งฟรอยด์ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
1. วุฒิภาวะ ซึ่งหมายถึงขั้นพัฒนาการตามวัย
2. ความคับข้องใจ ที่เกิดจากความสมหวังไม่สมหวัง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก
3. ความคับข้องใจ เนื่องมาจากความขัดแย้งภายใน
4. ความไม่พร้อมของตนเอง ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านเชาวน์ปัญญาและการขาดประสบการณ์
5. ความวิตกกังวล เนื่องมาจากความกลัวหรือความไม่กล้าของตนเอง

            ฟรอยด์ เชื่อว่า ความคับข้องใจ เป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการทางบุคลิกภาพแต่ต้องมีจำนวนพอเหมาะที่จะช่วยพัฒนา Ego แต่ถ้ามีความคับข้องใจมากเกินไปก็จะเกิดมีปัญหาและทำให้เกิดกลไกในการป้องกันตัว(DefenseMechanism)ซึ่งเป็นวิธีการปรับตัวในระดับจิตไร้สำนึกกลไกในการป้องกันตัวมักจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลปกติทุกวัยตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยชรากลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ฟรอยด์และบุตรีแอนนา ฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้
การเก็บกด  (Repression) 
         หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึกจนกระทั่งลืมกลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตรายเพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมากและอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น (Projection) 
          หมายถึงการลดความวิตกกังวลโดยการป้ายความผิด ให้แก่ผู้อื่น 
ตัวอย่าง ถ้าตนเองรู้สึกเกลียด หรือไม่ชอบใครที่ตนควรจะชอบก็อาจจะบอกว่าคนนั้นไม่ชอบตนเด็กบางคนที่โกงในเวลาสอบ ก็อาจจะป้ายความผิด หรือใส่โทษว่าเพื่อโกง
การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) 
            หมายถึง  การปรับตัวโดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองโดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น 
ตัวอย่าง พ่อแม่ที่ตีลูกมักจะบอกว่าการตีทำเพื่อเด็กเพราะเด็กต้องได้รับการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดีพ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตีเพราะโกรธลูกนักเรียนที่สอบตกก็อาจจะอ้างว่าไม่สบายแทนที่จะบอกว่าไม่ได้ดูหนังสือบางครั้งจะใช้เหตุผลแบบ"องุ่นเปรี้ยว"เช่น นักเรียนอยากเรียนแพทยศาสตร์แต่สอบเข้าไม่ได้แต่กลับได้วิศวกรรมศาสตร์อาจจะบอกว่าเข้าแพทย์ไม่ได้ก็ดีแล้วเพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อยไม่มีเวลาของตนเองเป็นวิศวกรดีกว่า เพราะเป็นอาชีพอิสระ"การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง"แตกต่างกับการโกหกเพราะผู้แสดงพฤติกรรมไม่รู้สึกว่าตนเองทำผิด

การถดถอย (Regression) 
        หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข 
ตัวอย่าง  เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก และไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง
การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง  (Reaction Formation) 
      หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเองที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ 
ตัวอย่าง  แม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมตรงข้ามโดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติหรือเด็กที่มีอคติต่อนักเรียนต่างชาติที่อยู่โรงเรียนเดียวกันการจะแสดงพฤติกรรมเป็นเพื่อนที่ดีต่อนักเรียนผู้นั้นโดยทำตนเป็นเพื่อนสนิท เป็นต้น
การสร้างวิมานในอากาศหรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming)
        กลไกป้องกันตัวประเภทนี้เป็นการสร้างจินตนาการ หรือมโนภาพเกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการแต่เป็นไปไม่ได้ฉะนั้นจึงคิดฝันหรือสร้างวิมานในอากาศขึ้นเพื่อสนองความต้องการชั่วขณะหนึ่ง เป็นต้น
ตัวอย่าง  นักเรียนที่เรียนไม่ดีอาจจะฝันว่าตนเรียนเก่งมีมโนภาพว่าตนได้รับรางวัลมีคนปรบมือให้เกียรติ เป็นต้น
การแยกตัว (Isolation) 
            หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง 
ตัวอย่าง   เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รักอาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว
การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement)
            เป็นการระบายอารมณ์โกรธหรือคับข้องใจต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ 
ตัวอย่าง  บุคคลที่ถูกนายข่มขู่หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภรรยาหรือลูกๆเป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยาและลูกๆนักเรียนที่โกรธครูแต่ทำอะไรครูไม่ได้ก็อาจจะเลือกสิ่งของ เช่น โต๊ะเก้าอี้เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะ เก้าอี้
การเลียนแบบ (Identification) 
            หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง 
ตัวอย่าง  เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อเด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่ในพัฒนาการขั้นฟอลลิคของฟรอยด์การเลียนแบบนอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมือนบุคคลที่ตนเลียนแบบแม้ยังจะยึดถือค่านิยมและมีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่เราเลียนแบบในความสำเร็จหรือล้มเหลวของบุคคลนั้นการเลียนแบบไม่จำเป็นจะต้องเลียนแบบจากบุคคลจริงๆแต่อาจจะเลียนแบบจากตัวเอกในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์โดยมีความรู้สึกร่วมกับผู้แสดงเมื่อประสบความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจหรือเมื่อมีความสุขก็จะพลอยเป็นสุขไปด้วย

สรุป
      ทฤษฎีของฟรอยด์เป็นทฤษฎีที่มีอิทธิพลมากทั้งทางตรงและทางอ้อมผู้ที่มีความเชื่อและเลื่อมใสในทฤษฎีของฟรอยด์ก็ได้นำหลักการต่างๆไปใช้ในการรักษาคนที่มีปัญหาทางบุคลิกภาพซึ่งได้ช่วยคนมากว่ากึ่งศตวรรษส่วนนักจิตวิทยาที่ไม่ใช้หลักจิตวิเคราะห์ก็ได้นำความคิดของฟรอยด์ไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางบุคลิกภาพจึงนับว่าฟรอยด์เป็นนักจิตวิทยาผู้มีอิทธิพลมากต่อพัฒนาการของวิชาจิตวิทยา


0 ความคิดเห็น: